วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กลุ่มอาชีพบ้านสีกายเหนือ จ.หนองคาย













หมู่บ้านวิถีชุมชน ริมฝั่งโขง
บ้านสีกายเหนือ โฮมสเตย์ จังหวัดหนองคาย
จากคำบอกเล่า...
            คุณแม่ดวงไพศรี นิลเกตุ ประธานกลุ่มหมู่บ้านโฮมสเตย์และคณะกรรมการกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มาให้การต้อนรับและให้ข้อมูล
หมู่บ้านสีกายเหนือ ตั้งอยู่ หมู่ 6  ตำบลสีกาย
            มีสมาชิกจำนวน 41 ครัวเรือน ภายใต้การสนับสนุนของพัฒนาชุมชน จังหวัดหนองคาย และองค์การบริหารส่วนตำบลสีกาย เป็นโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับมาตรฐานรองรับถึง 8 ปีซ้อน จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
            ลักษณะของบ้านพักที่จัดทำเป็นโฮมสเตย์ เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ส่วนใหญ่ โดยชุมชนจะจัดสรรบ้านของตนเองที่มีอยู่แล้ว ให้เป็นที่พักอาศัยนักท่องเที่ยว และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนจัดขึ้นและดำเนินชีวิตตามวิถี ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างๆถิ่นเกิดประสบการณ์และรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
 กิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว
            การล่องเรือตามลำน้ำโขง การปั่นจักรยานตามเส้นทางลำน้ำโขงชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อกับการนวดแผนไทย
            สำหรับในเดือนมีนาคม-เมษายน หาดสีกาย จะเป็นหาดทรายสีขาวสะอาดทอดแนวยาวตามลำน้ำโขง อันเกิดจากธรรมชาติสร้างสรรค์จะปรากฏให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความสวยงามกัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีนักท่องเที่ยวจากหลากหลายพื้นที่เข้ามาเที่ยวและเยี่ยมชม สัมผัสกับวัฒนธรรม และมิตรภาพที่ชาวบ้านสีกายมอบให้
            และเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญ ทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวชุมชนสีกาย จะคึกคัก คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อเฝ้าชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ  คือ บั้งไฟพญานาคเหนือลำน้ำโขง
                พอผ่านพ้นเทศกาลออกพรรษา เป็นต้นไป ลำน้ำโขงก็จะกลับมาสงบ วิถีชีวิตของชาวบ้านสีกาย ก็จะคืนสู่ชุมชนเกษตรกรรม บริเวณพื้นที่ริมฝั่งโขงยามน้ำลด จะกลายเป็นแหล่งเกษตรกรรม เช่น มะเขือเทศ พืชผักนานาชนิด แต้มสีสันบนผืนดินริมฝั่งโขงให้มีความงดงามยิ่งนัก
            และนอกเหนือจากการจัดกิจกรรม บ้านสีกายเหนือโฮมสเตย์การท่องเที่ยวตามวิถีชุมชนริมฝั่งโขงแล้ว ชุมชนหมู่บ้านสีกายยังจัดให้มีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่างๆ เกิดขึ้น เช่น
กลุ่มส่งเสริมอาชีพหัตถกรรม (งานปั้น แกะสลัก)
กลุ่มส่งเสริมอาชีพแม่บ้านเกษตร (มะเขือเทศแช่อิ่ม)
กลุ่มส่งเสริมอาชีพทอผ้าพื้นเมือง (แม่มาย แก้วอุ่น)
กลุ่มส่งเสริมอาชีพแปรรูปอาหาร (กล้วยทอด , กล้วยฉาบ)
กลุ่มส่งเสริมอาชีพ (จัก-สาน)
จนสามารถผลิตเป็นสินค้า OTOP ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น